ภาคการผลิตในยุค Digital Manufacturing

เมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับทุกภาคส่วน หลายธุรกิจต้องปรับตัวโดยนำดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ภายในองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องเจอความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ เพราะต้องรู้จัก เข้าใจ และลงมือทำ Digital Manufacturing อย่างเร่งด่วน เพื่อความอยู่รอด

Digital Manufacturing คืออะไร

Digital Manufacturing คือ การนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น Internet of Things (IoT), Big Data Analytics, Artificial Intelligence (AI), Robotics และ 3D printing เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยวางแผนการผลิตได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าต้นแบบ (Prototype) และสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตส่วนไหนก็ได้ภายในระยะเวลาอันสั้นก่อนการผลิตจริง ช่วยลดเวลาและต้นทุน จึงกล่าวได้ว่า Digital Manufacturing หรือการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของกระบวนการผลิต เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้

Digital Manufacturing มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร

Digital Manufacturing มีประโยชน์ต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีแต่ละชนิดต่างก็มีฟังก์ชันที่เอื้อให้คนในทีมสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นลง ทำให้กระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ช่วยลดทั้งเวลาและต้นทุน รวมทั้งช่วยให้ทุกคนมองเห็นเป็นภาพเดียวกันอยู่ตลอดเวลา เช่น การใช้เทคโนโลยีในกระบวนการจัดการข้อมูลภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบุคลากร ข้อมูลการผลิต หรือข้อมูลลูกค้า จะสามารถมองเห็นข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ หากมีข้อมูลใหม่หรือมีการแก้ไขข้อมูล เทคโนโลยีก็จะช่วยประมวลผลให้เห็นได้ทันที ลดเวลาในการทำงาน หมดกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการหรือความพึงพอใจของลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สิ่งที่ตามมาเมื่อเกิด Digital Manufacturing

1. Mass Production สู่ Mass Customization

ในอดีตมักจะผลิตสินค้าจำนวน ๆ ออกมาพร้อมกันเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด แต่ปัญหาที่ตามมาคือขาดความหลากหลายของสินค้า แต่วิถีการผลิตแบบ Digital Manufacturing จะทำให้การผลิตเข้าสู่ยุค Mass Customization คือ เทคโนโลยีสามารถผลิตสินค้าในปริมาณมาก แต่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น และยังคงควบคุมให้ต้นทุนต่ำควบคู่กันไปด้วย

 

2. Economy of Scale สู่ Economy of Speed

จากเดิมที่ธุรกิจต้องผลิตสินค้าในจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าต่ำลง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่า หรือที่เรียกว่า Economy of scale หรือการประหยัดจากขนาด แต่เมื่อปรับตัวเข้าสู่ Digital Manufacturing โดยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยาภาพของธุรกิจในด้านต่าง ๆ จะกลายเป็นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจด้วยความเร็ว หรือ Economy of Speed แทน ทำให้พัฒนาสินค้าได้อย่างรวดเร็วทันใจ และตรงความต้องการของลูกค้า

Digital Manufacturing กับธุรกิจการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ยกตัวอย่าง ธุรกิจการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมากในตลาด ในขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ของบางบริษัทขาดการพัฒนาฝีมือ และการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไม่สูงนัก จึงจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

ตัวอย่างการปรับตัวเข้าสู่ Digital Manufacturing ของธุรกิจการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

  • การออกแบบดิจิทัล ใช้ซอฟต์แวร์ CAD ซอฟต์แวร์จำลองการออกแบบและทดสอบผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะสร้างต้นแบบจริง ช่วยให้บริษัทลดเวลาและต้นทุนในการพัฒนา 
  • การวางแผนแบบดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การวางแผนการผลิต และการจัดตารางเวลา ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดต้นทุนที่เกิดจากความผิดพลาด
  • การผลิตแบบดิจิทัล ติดตั้งเซนเซอร์และอุปกรณ์ IoT ทั่วทั้งโรงงานเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องจักรและตรวจจับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์
  • การจัดจำหน่ายและขนส่งแบบดิจิทัล ใช้เทคโนโลยี เชื่อมโยงข้อมูลการกระจายสินค้าและการจัดการคลังสินค้าเพื่อตอบรับคำสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลเป็นแบบเรียลไทม์  ลดระยะเวลารอคอยสินค้า ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงเวลาจัดส่งและความพึงพอใจของลูกค้า

เมื่อมีการปรับตัวเข้าสู่ Digital Manufacturing บริษัทสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมได้ ลดข้อผิดพลาดในกระบวนการผลิต สามารถสร้างต้นแบบและทดสอบผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วขึ้น ทำให้สินค้ามีคุณภาพและออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถลดเวลาและลดต้นทุนที่อาจเกิดจากความผิดพลาดอีกด้วย

 

การปรับตัวไปสู่วิถี Digital Manufacturing ถือเป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตเป็นอย่างมาก แต่หากธุรกิจใดสามารถทำได้ ก็ถือว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เพราะนอกจากจะทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจไทยให้แข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ในยุคดิจิทัลได้ ดังนั้น หากธุรกิจใดยังไม่ตระหนักถึง Digital Manufacturing ก็อาจจะพลาดโอกาสในการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย